WHAT'S NEW?
Loading...

3 ท่าบริหาร แก้ปวดคอ บ่า ไหล่ อย่างได้ผลใน 2 สัปดาห์

Advertisements

Advertisements
3 ท่าบริหาร แก้ปวดคอ บ่า ไหล่ อย่างได้ผลใน 2 สัปดาห์

การทำงานออฟฟิศกับเรื่องปวดคอ บ่า ไหล่ มักเป็นเรื่องคู่กัน วงการแพทย์เรียกอาการชนิดนี้ว่า Office Syndrome วิธีการรักษาแบบเวชศาสตร์ฟื้นฟู เน้นท่าบริหารเพื่อรักษาตามอาการ ไม่ใช้วิธีผ่าตัด จึงเป็นวิธีการบำบัดแบบง่ายๆ


นพ.ฐปกรณ์ แหนบนาค แพทย์เวชศาสตร์ฟื้นฟู สำนักงานบรรเทาทุกข์และประชานามัยพิทักษ์ สภากาชาดไทย กล่าวว่า คนส่วนใหญ่ 80% ที่มาหาหมอ มักมีปัญหาเป็นเรื่องกล้ามเนื้อคอ จากการก้ม เงย หน้าจอคอมพิวเตอร์ ซึ่งเป็นปัจจัยมาจากการทำงาน

แต่หากเป็นคนไข้อายุมาก มักเกิดจากความเสื่อมของอวัยวะ เช่นหมอนรองกระดูกเสื่อม ซึ่งจะมีอาการกล้ามเนื้ออ่อนแรง ชา ร้าวไปที่ไหล่ มือ สังเกตได้จากตื่นนอนตอนเช้า คอแข็ง ขยับไม่ได้ หรืออาจมีอาการทับเส้นประสาทร่วมด้วย

“อาการ ล้า ตึง บ่าแข็ง เป็นกล้ามเนื้ออักเสบจากการทำงาน ซึ่งรบกวนการใช้ชีวิตประจำวัน ไม่เป็นอันตราย วิธีการรักษาใช้เวชศาสตร์ฟื้นฟูมีท่าบริหาร แต่ถ้าเป็นกระดูกคอเสื่อม ต้องเข้ารับการรักษาอย่างถูกวิธี” นพ.ฐปกรณ์ยังกล่าวถึงการดูแลตัวเองในเบื้องต้น

หากเกิดอาการปวด ให้พักทุกๆ ครึ่งชั่วโมง เปลี่ยนอิริยาบถ หรือใส่ Soft collar 3 วัน ต่อเนื่องทั้งในช่วงเวลานอน เพื่อไม่ให้คอขยับมากเกินไป และทำให้เกิดความอบอุ่นบริเวณคอ หากไม่ดีขึ้นต้องเข้าสู่กระบวนการรักษา

แพทย์เวชศาสตร์ฟื้นฟูอธิบายเพิ่มเติมถึงท่านอนสำหรับคนปวดคอว่า ท่านอนปกติของคนเราคือ ท่านอนหงาย ซึ่งต้องหาหมอนให้เหมาะสมกับรูปคอ ชนิดหรือรูปร่างหมอนแบบใดเหมาะหรือไม่เหมาะ ไม่สามารถตอบได้ เพราะกระดูกคอแต่ละคนมีโครงสร้างไม่เหมือนกัน ต้องไปทดลองเลือกด้วยตัวเอง และไม่เกี่ยวข้องกับหมอนถูกหรือหมอนแพง แต่หากจะนอนตะแคงก็ต้องมีหมอนรองขา นอกจากท่านอนแล้ว ท่าขับรถก็เป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดอาการปวดคอ

เนื่องจากธรรมชาติมนุษย์มักจะเผลอชะโงกตัวไปข้างหน้า แนะนำให้หาหมอนรูปตัว C มารองคอในขณะขับรถ เพื่อป้องกันการเกิดอาการปวด สำหรับท่าบริหารคอ บ่า ไหล่ แบบง่ายๆ มีทั้งหมด 3 ท่า ทำได้แม้นั่งอยู่หน้าคอมพิวเตอร์ แต่ละท่าเน้นการบรรเทาอาการเจ็บปวดตามจุด เช่น บ่า คอ และใต้ท้ายทอย


ท่าที่ 1 ปวดบ่า หากปวดบ่าขวา นั่งกับเก้าอี้สบายๆ มือข้างขวาจับเก้าอี้เพื่อทรงตัวไม่ให้ไหล่ยกขึ้น ยกมือซ้ายข้ามเหนือศีรษะมาจับเหนือหูด้านขวา จากนั้นดึงไปทางซ้าย จนหูซ้ายแนบไหล่ซ้าย ดึงให้มากที่สุดเท่าที่ทำได้ นับ 1-10 ด้วยวิธี 1 และ 2 และ 3 …จนถึง 10 ทำซ้ำจนครบ 10 ครั้ง จากนั้นเปลี่ยนไปอีกข้างหนึ่ง ทำเช่นเดียวกัน นับเป็น 1 เซต หากทำถูกวิธีจะรู้สึกตึง แต่ถ้าเจ็บปวดมากให้ผ่อน


ท่าที่ 2 ปวดฐานคอ หากปวดฐานคอข้างขวา เริ่มเช่นเดียวกับท่าแรก คือนั่งเก้าอี้ มือข้างขวาจับเก้าอื้ ยกมือซ้ายจับศีรษะ หันหน้าไปมองรักแร้ซ้าย ในลักษณะดมรักแร้ซ้าย ใช้มือซ้ายกดศีรษะให้ก้มลงไปมากที่สุด นับ 1 และ 2 และ 3 …จนถึง 10 ทำซ้ำจนครบ 10 ครั้ง จากนั้นเปลี่ยนไปอีกข้างหนึ่ง ทำเช่นเดียวกัน นับเป็น 1 เซต


ท่าที่ 3 ปวดใต้ท้ายทอย เริ่มต้นยังคงท่าเดิม คือนั่งเก้าอี้ หากปวดท้ายทอยด้านขวาให้หันหน้าไปทางซ้าย ยกมือซ้ายจับคางขวา ดันไปทางซ้ายจนรู้สึกตึงบริเวณท้ายทอยด้านขวา ซึ่งถือว่าทำถูกต้อง นับ 1 และ 2 และ 3 …จนถึง 10 ทำซ้ำจนครบ 10 ครั้ง

ท่าบริหารดังกล่าวทำให้กล้ามเนื้อบริเวณที่ปวดตึงจากการใช้งานหนักคลายตัวลง ให้ทำทุกวัน เช้า 1 เซต กลางวัน 1 เซต เย็น 1 เซต แต่ละท่าให้บริหารอย่างช้าๆ อย่ากระชาก หากทำต่อเนื่อง เพียง 1-2 อาทิตย์ อาการปวดตึงก็จะหายไป

แต่หากยังคงพฤติกรรมการใช้ชีวิตแบบเดิมๆอยู่ๆก็จะกลับมาเป็นอีก อย่างไรก็ตาม หากทำท่าบริหารแล้วรู้สึกปวดมากขึ้น ให้หยุด หรือหากปวดมากจากการตกหมอนไม่ควรบริหารเพราะท่าเหล่านี้ใช้กับกรณีที่มีอาการปวดตึงเท่านั้น

นอกจากนี้ ท่าทั้ง 3 ยังเหมาะสำหรับนักกีฬาที่ต้องยืดกล้ามเนื้อก่อนการแข่งขันอีกด้วย






บทความจาก...... tnamcot.com







0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น