WHAT'S NEW?
Loading...
บอกต่อกันไป! สุดยอดเทคนิคการปลูกมะละกอพันธุ์แขกดำศรีสะเกษให้ติดผลดก และได้ราคาดีๆ
Advertisements
Advertisements
Advertisements
บอกต่อกันไป! สุดยอดเทคนิคการปลูกมะละกอพันธุ์แขกดำศรีสะเกษให้ติดผลดก และได้ราคาดีๆ
มะละกอพันธุ์แขกดำศรีสะเกษ เทคนิคการปลูก ให้ติดผลดก เนื้อหวาน น้ำหนักดี กินดิบหรือสุกก็อร่อย มีลักษณะเด่นคือต้นเตี้ย ติดดอกติดผลเร็ว ให้ผลดก มีความบริสุทธิ์ของสายพันธุ์สูง
มะละกอพันธุ์แขกดำศรีสะเกษ เป็นพันธุ์ที่ศูนย์วิจัยพืชสวนศรีสะเกษ ทำการศึกษาวิจัยและปรับปรุงกระทั่งได้พันธุ์ดีมีคุณภาพ เกษตรกรในพื้นที่จังหวัดศรีสะเกษและใกล้เคียง เลือกนำไปเป็นพันธุ์ปลูกในเชิงการค้าอย่างแพร่หลาย ทำให้มีรายได้มั่นคง เป็นหนึ่งพืชเศรษฐกิจสำคัญทั้งในระดับท้องถิ่นและระดับประเทศ วันนี้จึงนำเรื่อง มะละกอแขกดำศรีสะเกษ…พืชเศรษฐกิจทำเงิน สู่วิถีมั่นคง มาบอกเล่าสู่กันคุณธวัชชัย นิ่มกิ่งรัตน์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยพืชสวนศรีสะเกษ เล่าให้ฟังว่า มะละกอ เป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญทั้งในระดับท้องถิ่นและระดับประเทศ ปลูกและเจริญเติบโตได้ดีในทุกภูมิภาคของประเทศ เป็นพืชที่ชอบดินร่วนที่มีอินทรียวัตถุสูง ดินมีค่าความเป็นกรด เป็นด่าง ที่ pH 5.5-6.5 อุณหภูมิที่เหมาะสม 21-31 องศาเซลเซียส ฤดูแล้งต้องมีน้ำเพียงพอ ไม่ชอบน้ำขังแฉะ เพราะจะเป็นสาเหตุของโรคโคนเน่าและรากเน่าตาย
พันธุ์มะละกอ ที่นิยมปลูกคือ พันธุ์แขกดำศรีสะเกษ แขกนวล และ โกโก้ เมื่อสุกเนื้อสีแดง พันธุ์สายน้ำผึ้ง เมื่อสุกเนื้อสีเหลือง มะละกอพันธุ์แขกดำศรีสะเกษ บริโภคผลดิบและสุกได้รสชาติอร่อย จึงนิยมปลูกในเชิงการค้า
มะละกอพันธุ์แขกดำศรีสะเกษ มีที่มาจากการศึกษาวิจัยและปรับปรุงพันธุ์โดยศูนย์วิจัยพืชสวนศรีสะเกษ ได้รวบรวมพันธุ์มะละกอแขกดำจากจังหวัดราชบุรี และนครราชสีมา ปลูกในระหว่าง ปี 2527-2533 เพื่อศึกษาคัดเลือกสายพันธุ์ที่มีผลผลิตสูงและคุณภาพดี โดยวิธี pure line และ ได้กำหนดมาตรฐานการคัดเลือกพันธุ์ไว้ดังนี้
1. รูปร่างผลกลม ยาว ไม่บิดเบี้ยว
2. ผลดิบสีเขียวเข้ม ผิวเรียบ ไม่มีร่องรอยการเข้าทำลายของโรคแมลง
3. ช่องว่างภายในผลแคบน้อยกว่า 20 เปอร์เซ็นต์ โดยปริมาณ
4. ความหนาเนื้อ มากกว่า 2 เปอร์เซ็นต์
5. ผลสุกเนื้อในสีแดงอมส้ม รสหวาน ปริมาณ soluble solid มากกว่า 12 เปอร์เซ็นต์
จากการศึกษาและคัดเลือกพันธุ์มะละกอ จนถึงชั่วที่ 4 ในปี พ.ศ. 2533 ทำให้ได้สายพันธุ์ที่มีลักษณะดี จำนวน 7 สายพันธุ์ จึงได้สร้างสวนผลิตเมล็ดพันธุ์มะละกอสายพันธุ์คัด ในขณะเดียวกันได้คัดเลือกพันธุ์ไว้เป็นแม่พันธุ์ในชั่วที่ 5 โดยวิธี mass selection ด้วย แล้วได้ศึกษาปฏิกิริยาต่อโรคจุดวงแหวน ทดสอบผลผลิตและคุณภาพของมะละกอแขกดำสายพันธุ์คัดในไร่เกษตรกร และวันที่ 24 สิงหาคม 2537 กรมวิชาการเกษตร ได้แนะนำพันธุ์ มีชื่อวิทยาศาสตร์ Carica papaya L. ชื่อสามัญ Papaya Papaw ชื่อ พันธุ์แขกดำศรีสะเกษ
คุณปราณี เถาว์โท เจ้าพนักงานการเกษตรปฏิบัติงาน ศูนย์วิจัยพืชสวนศรีสะเกษ เล่าให้ฟังว่า ได้ปฏิบัติหน้าที่ในการควบคุมแปลงพันธุ์ ซึ่งก่อนปลูกและผลิตมะละกอพันธุ์แขกดำศรีสะเกษ ได้เตรียมต้นกล้าด้วยการเพาะเมล็ดในถุงพลาสติก 4×6 นิ้ว นำวัสดุเพาะที่มีดินร่วน 3 ส่วน ปุ๋ยคอกแห้ง 1 ส่วน และเถ้าแกลบ 1 ส่วน ผสมคลุกเคล้ากันใส่ในถุงเพาะ หยอดเมล็ดพันธุ์ ถุงละ 3 เมล็ด กดให้ลึกลงไปประมาณ 0.5 เซนติเมตร รดน้ำให้พอชุ่มทุกวัน จากนั้น 10-14 วัน เมล็ดจะงอก ควรพ่นสารป้องกันกำจัดเชื้อรา เมื่อต้นกล้าอายุ 45-50 วัน จึงย้ายกล้าไปปลูก
วิธีการเตรียมดินปลูก
การเตรียมแปลงปลูก ไถพรวนย่อยดินให้ร่วน ปลูกระยะห่าง 2×2 เมตร หรือ 2×2.5 เมตร ขุดหลุมปลูกกว้าง ยาว และลึก ด้านละ 50 เซนติเมตร นำดินบนผสมกับปุ๋ยคอกแห้ง 5-10 กิโลกรัม ใส่ปุ๋ยร็อกฟอสเฟต 150-200 กรัม ต่อหลุม และใส่ปุ๋ย สูตร 15-15-15 ในอัตรา 20 กรัม ต่อหลุม แล้วนำต้นกล้าลงปลูก หลุมละ 2-3 ต้น เมื่อต้นมะละกอแสดงเพศแล้วได้ถอนแยกให้เหลือต้นกะเทยไว้ 1 ต้น ต่อหลุม
การให้น้ำ
การให้น้ำ หลังปลูกควรให้น้ำพอชุ่มทุกวัน และในช่วงมะละกอออกดอกและติดผล จะต้องให้ได้รับน้ำเพียงพอ เพราะถ้าปล่อยให้ขาดน้ำจะทำให้ดอกร่วงและการพัฒนาของผลได้ไม่สมบูรณ์
การใส่ปุ๋ย
การใส่ปุ๋ย ให้ใส่ปุ๋ยอินทรีย์หลังปลูก 3-4 ครั้ง ต่อปี ในอัตรา 5-15 กิโลกรัม ต่อต้น เมื่ออายุ 1-3 เดือน ให้ใส่ปุ๋ย สูตร 15-15-15 ในอัตรา 50 กรัม ต่อต้น เดือนละครั้ง เมื่ออายุ 3-6 เดือน ให้ใส่ปุ๋ย สูตร 15-15-15 ในอัตรา 100 กรัม ต่อต้น ทุกเดือน เมื่ออายุ 6-12 เดือน ให้ใส่ปุ๋ย สูตร 13-13-21 ในอัตรา 200 กรัม ต่อต้น ทุก 2 เดือน และอายุมากกว่า 12 เดือน ให้ใส่ปุ๋ย สูตร 15-15-15 และ 13-13-21 โดยใส่สลับกัน ครั้งละ 200 กรัม ต่อต้น ทุก 2 เดือน
การขยายพันธุ์
การขยายพันธุ์ ควรเก็บเมล็ดพันธุ์จากต้นมะละกอเพศกะเทยที่ให้ผลผลิตสูง ผลโต ผลยาว เมื่อนำไปปลูกจะได้ต้นกล้าที่เป็นต้นกะเทยต่อต้นตัวเมีย ในสัดส่วน 2 : 1 ในกรณีที่ต้องการพันธุ์แท้ควรช่วยผสมเกสรโดยใช้ถุงคลุมดอกกะเทยก่อนดอกบาน เมื่อดอกบานให้ใช้เกสรตัวผู้ในต้นเดียวกันหรือพันธุ์เดียวกัน ป้ายที่เกสรตัวเมีย แล้วใช้ถุงคลุมอีกครั้ง หลังจากนั้นประมาณ 7 วัน จึงถอดถุงคลุมออก ถ้าต้องการเก็บรักษาเมล็ดพันธุ์ไว้ ควรล้างเนื้อเยื่อให้สะอาด นำไปผึ่งไว้ในที่ร่มจนแห้ง บรรจุเก็บไว้ในถุงพลาสติกปิดให้แน่น นำไปเก็บไว้ในตู้เย็นช่องแช่ผัก
การเก็บเกี่ยว เมื่อต้นมะละกอพันธุ์แขกดำศรีสะเกษ อายุ 5-6 เดือน ก็เริ่มเก็บเกี่ยวได้ ถ้าต้องการบริโภคผลดิบ ให้เก็บเกี่ยวเมื่อผิวเปลือกสีเขียวเข้ม แต่ถ้าบริโภคผลสุก ให้เก็บเกี่ยวเมื่อสีผิวเปลือกเปลี่ยนจากสีเขียวเข้มเป็นสีเขียวอ่อน หรือมีแต้มสีเหลืองที่บริเวณปลายผล หรือในระยะต้นมะละกอพันธุ์แขกดำศรีสะเกษ อายุราว 8 เดือน
จากเรื่อง มะละกอแขกดำศรีสะเกษ…พืชเศรษฐกิจทำเงิน สู่วิถีมั่นคง เป็นพืชที่ปลูกเจริญเติบโตได้ดีในทุกภูมิภาค ทุกครัวเรือนนิยมบริโภค เป็นพืชเศรษฐกิจสำคัญที่เกษตรกรในพื้นที่จังหวัดศรีสะเกษและใกล้เคียงปลูกในเชิงการค้า ทำให้ได้เงินแสนบาท เป็นการยกระดับรายได้และพัฒนาคุณภาพชีวิตที่มั่นคง
สอบถามเพิ่มเติมได้ที่ คุณปราณี เถาว์โท ศูนย์วิจัยพืชสวนศรีสะเกษ โทร. (045) 814-581 หรือ คุณสุรชัย เติบสูงเนิน สำนักงานเกษตรจังหวัดศรีสะเกษ โทร. (045) 616-829 ก็ได้เช่นกันครับ
ข้อมูล : นิตยสารเทคโนโลยีชาวบ้าน www.technologychaoban.com
0 ความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น