WHAT'S NEW?
Loading...

คุณผู้หญิงควรทำเดือนละ 1 ครั้ง...วิธีการตรวจเต้านมด้วยตนเอง

Advertisements

Advertisements

คุณผู้หญิงควรทำเดือนละ 1 ครั้ง...วิธีการตรวจเต้านมด้วยตนเอง

 
ปัจจุบันโรคมะเร็งเป็นสาเหตุของการเสียชีวิตอันดับแรก ๆ ของประชากรไทย และโรคมะเร็งเต้านมเป็นมะเร็งที่พบบ่อยในสตรีเป็นอันดับแรกในหลายภูมิภาคของประเทศไทย และมีแนวโน้มที่จะมีอุบัติการณ์เพิ่มสูงขึ้นเรื่อย ๆ

โดยพบมากในสตรีที่มีอายุตั้งแต่ 40 ปี ขึ้นไป การที่ผู้ป่วยสามารถพบความผิดปกติและมาพบแพทย์เพื่อให้การวินิจฉัยในระยะแรกได้ จะทำให้การรักษาได้ผลดี และมีอัตราการอยู่รอดชีวิตสูงกว่าผู้ป่วยที่มาพบแพทย์เมื่อมีอาการในระยะของโรคที่เป็นมากแล้ว

วิธีการการตรวจเต้านมสตรีเพื่อตรวจหาความผิดปกติที่ง่าย และสามารถปฏิบัติได้ด้วยตนเอง คือ การตรวจเต้านมด้วยตนเอง เดือนละ 1 ครั้ง สำหรับสตรีอายุตั้งแต่ 20 ปีขึ้นไป

โดยอาการที่เกิดจากมะเร็งเต้านมส่วนใหญ่จะพบว่ามีก้อนที่เต้านม มีการดึงรั้งของผิวหนัง หรือมีลักษณะผิดปกติที่ผิวหนัง เช่น มีเส้นเลือดเพิ่มขึ้น หรือมีผิวหนังบวม นอกจากนี้ยังพบมะเร็งที่ส่วนของท่อน้ำนม

ซึ่งอาจจะพบว่ามีอาการหัวนมบุ๋มหรือยุบลง หรือมีน้ำหรือเลือดออกจากหัวนม แต่อย่างไรก็ตามอาการที่พบดังกล่าวอาจจะเป็นอาการจากโรคอื่นๆ ได้ด้วย ซึ่งควรจะมาพบแพทย์เพื่อหาสาเหตุต่อไป

วิธีการตรวจเต้านมด้วยตนเอง

การตรวจเต้านมด้วยตนเอง ควรทำอย่างสม่ำเสมอโดยทำการตรวจเดือนละ 1 ครั้ง ในช่วงตั้งแต่มีประจำเดือนประมาณ 7-10 วัน โดยเริ่มนับตั้งแต่วันแรกของการมีประจำเดือน หรือตรวจในช่วงที่รู้สึกว่าเต้านมนิ่มลง

เนื่องจากในช่วงระยะเวลานั้นเต้านมจะไม่ตึงตัวมากจึงสามารถคลำก้อนได้ชัดเจน หรือคลำก้อนที่มีขนาดที่ยังเล็กได้โดยง่าย

ส่วนผู้ที่เข้าสู่วัยทองซึ่งประจำเดือนหมดไปแล้ว หรือได้รับการผ่าตัดมดลูกไปแล้ว ให้กำหนดวันที่แน่นอนสำหรับการตรวจเต้านมด้วยตนเองเป็นประจำทุกเดือนเพื่อการจดจำง่าย และให้ตรวจวันเดียวกันของทุกเดือน เช่น วันที่ 1 ของเดือน หรือวันสุดท้ายของเดือน เป็นต้น

ขั้นตอนแรกของการตรวจเต้านมด้วยตนเอง คือ การสังเกตความผิดปกติด้วยการดูลักษณะภายนอกของเต้านม
การดู

โดยให้ยืนตรงมือแนบลำตัว สังเกตลักษณะของเต้านมว่ามีการเปลี่ยนแปลงของหัวนมหรือไม่ ลักษณะของผิวหนังมีรอยบุ๋ม มีก้อนนูน ผิวหนังบวม มีแผลหรือมีเส้นเลือดสีดำใต้ผิวหนังมากเพิ่มขึ้นที่ผิดปกติหรือไม่

การดูให้สังเกตเปรียบเทียบเต้านมทั้งสองข้างว่าแตกต่างผิดไปจากเดิมหรือไม่ด้วย ทำการหันตัวเล็กน้อยเพื่อสามารถมองเห็นด้านข้างของเต้านมทั้งสองข้างได้อย่างชัดเจน สังเกตการเปลี่ยนแปลงของผิวหนังและรอยบุ๋มเช่นเดียวกัน
 
จากนั้นให้ยกมือขึ้นทั้ง 2 ข้าง เพื่อสังเกตความผิดปกติของรอยบุ๋มของผิวหนังบริเวณเต้านมที่เกิดจากการดึงรั้ง เนื่องจากในรายที่เป็นมะเร็งอาจจะมีการดึงรั้งของเนื้อเยื่อให้เกิดรอยบุ๋มได้
 
เอามือท้าวสะเอวเพื่อให้กล้ามเนื้อหน้าอกตึงตัว แล้วโน้มตัวไปข้างหน้าเพื่อให้สังเกตรอยดึงรั้งของผิวหนังได้ง่ายขึ้น เมื่อไม่พบความผิดปกติจากการสังเกตดูที่เต้านมแล้ว ขั้นตอนต่อไปคือ การคลำที่เต้านม
 
การคลำ

การตรวจเต้านมควรทำทั้งในท่านั่งและท่านอน สิ่งที่สำคัญของการตรวจ คือ การตรวจให้ทั่วพื้นที่ของบริเวณเต้านม โดยใช้ด้านฝ่ามือของนิ้วชี้ นิ้วกลาง และนิ้วนาง บริเวณค่อนไปทางปลายนิ้ว เนื่องจากเป็นตำแหน่งที่ไวต่อการสัมผัส การคลำเต้านมจะต้องคลำให้ทั่วทั้งพื้นที่ของเต้านม ในลักษณะคลึงวนเป็นก้นหอยเล็ก ๆ ไปตามเต้านม เนื่องจากตำแหน่งของเต้านมที่อยู่บนผนังทรวงอกเป็นตำแหน่งที่สามารถตรวจพบมะเร็งเต้านมได้
 
สังเกตความผิดปกติว่ามีของเหลว หรือเลือดออกจากหัวนมในขณะที่กดบริเวณปานนมหรือไม่ การบีบบริเวณหัวนมควรทำด้วยความนิ่มนวล ไม่ควรบีบเค้นบริเวณหัวนมอย่างรุนแรง เพราะหากมีความผิดปกติจะพบว่ามีน้ำหรือเลือดออกจากหัวนมเมื่อมีการกดโดยไม่ต้องบีบเค้น
 
ในท่านั่ง ใช้นิ้วมือคลำบริเวณเต้านม ส่วนที่อยู่ใต้รักแร้ว่ามีก้อนหรือต่อมน้ำเหลืองที่โตผิดปกติหรือไม่ โดยการห้อยแขนลงมาเพื่อให้กล้ามเนื้อหน้าอกหย่อนลง เนื่องจากหากกล้ามเนื้อตึงเกินไปจะไม่สามารถคลำรักแร้ได้อย่างชัดเจน
 
จากนั้นทำการตรวจโดยการนอนบนที่นอนยกแขนหนุนศีรษะ ในท่านี้อาจจะใช้ผ้าขนหนูม้วน หรือใช้หมอนขนาดเล็กสอดรองที่บริเวณหลังและไหล่ข้างที่ต้องการตรวจ เพื่อทำให้บริเวณทรวงอกด้านนั้นแอ่นขึ้นมาเล็กน้อย จะสามารถคลำได้ชัดเจนดียิ่งขึ้น
 
การคลำเต้านม จะใช้นิ้วมือ 3 นิ้ว คลำในลักษณะคลึงวนเป็นก้นหอยเล็ก ๆ บริเวณเต้านมให้ทั่วทั้งเต้านม ในระดับความแรง 3 ระดับ คือ ระดับตื้นลงไปจากผิวหนังเล็กน้อย ระดับที่ลึกลงไป และระดับที่ลึกถึงผนังหน้าอก โดยทิศทางในการคลำสามารถทำได้หลายวิธี ซึ่งสามารถเลือกใช้วิธีใดวิธีหนึ่งก็ได้
 
คลำในแนวก้นหอย 
โดยสามารถคลำได้ในทิศทางทั้งทวนเข็มนาฬิกา หรือตามเข็มนาฬิกาก็ได้
   
การคลำในแนวดิ่ง
จากใต้เต้านมจนถึงกระดูก ไหปลาร้า คลำจากบนลงล่าง หรือจากล่างขึ้นบนก็ได้
   
คลำในแนวรูปลิ่ม
ทิศทางเป็นเส้นตรงรัศมีในออกนอก หรือนอกเข้าในก็ได้เช่นเดียวกัน

สำหรับผู้ที่มีเต้านมใหญ่หรือเนื้อเต้านมมาก แนะนำให้นอนตะแคงโดยเอาด้านข้างของลำตัวด้านนั้นให้สูงขึ้น เพื่อที่จะคลำด้านข้างได้ชัดเจน เนื่องจากเนื้อเต้านมจะไปกองอยู่ที่บริเวณด้านข้างทำให้คลำได้ยาก ใช้วิธีคลำให้คลำลงล่างและขึ้นบนไปมาจนทั่วบริเวณ จากนั้นให้นอนหงายเพื่อคลำด้านในให้ทั่วเช่นเดียวกัน

การตรวจเต้านมด้วยตนเอง เป็นการตรวจที่จะเกิดประโยชน์อย่างมาก หากได้ทำการฝึกฝนเป็นประจำและสม่ำเสมอจนชำนาญ เพื่อให้ทราบสภาพของเต้านมตนเอง และเมื่อพบสิ่งผิดปกติที่เปลี่ยนแปลงไปจะสามารถสังเกตได้โดยง่าย สิ่งที่สำคัญของการตรวจเต้านมด้วยตนเอง คือ ทำการตรวจเต้านมด้วยตนเองอย่างถูกวิธี เดือนละ 1 ครั้ง และคลำไปให้ทั่วบริเวณเต้านมและรักแร้

ในกรณีที่ตรวจพบความผิดปกติ หรือสงสัยในสิ่งที่ตรวจพบว่าอาจจะมีความผิดปกติเกิดขึ้น ท่านควรจะไปพบแพทย์เพื่อทำการตรวจซ้ำหรือตรวจเพิ่มเติม เพื่อให้การวินิจฉัยและให้คำแนะนำที่ถูกต้องแก่ท่านต่อไป



ที่มา...หน่วยสารสนเทศมะเร็ง  โรงพยาบาลสงขลานครินทร์

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น