WHAT'S NEW?
Loading...

ไขมันในเลือดสูง..ตัวการร้ายนำสู่สารพัดโรค

Advertisements

Advertisements

เมื่อศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับโรคต่างๆ ทำให้ทราบว่าไขมันในเลือดมีความสำคัญกับชีวิตของเราเป็นอย่างมาก ไขมันในเลือดสูง เป็นปัจจัยเสี่ยงของการเกิดโรคมากมาย ระดับไขมันในเลือดมีความสำคัญต่อการเกิดหลอดเลือดตีบตัน

โดยเฉพาะหลอดเลือดที่ไปเลี่ยงหัวใจ ดังนั้นผู้ที่มีภาวะไขมันเลือดสูง จึงมีโอกาสเป็นโรคหัวใจขาดเลือด สมองขาดเลือด จนอัมพฤกษ์ อัมพาตได้


ชนิดของไขมันในเลือด
ไขมันในเลือดที่สำคัญมีอยู่หลายชนิด ได้แก่ ไขมันโคเลสเตอรอล (Cholesterol) และไขมันไตรกลีเซอไรด์ (Triglycerige) การตรวจไขมันในเลือด จะตรวจจากสารต่างๆ ดังต่อไปนี้

โคเลสเตอรอล (Cholesterol)
เป็นไขมันชนิดหนึ่งที่ร่างกายสามารถสังเคราะห์ได้ขึ้นเองจากตับและลำไส้ หรือได้รับจากสารอาหารที่รับประทานเข้าไป อาหารที่มาจากพืชจะไม่พบโคเลสเตอรอลเป็นส่วนประกอบ จะพบมากในไขมันสัตว์ ปริมาณไขมันขึ้นอยู่กับชนิดของอาหาร โคเลสเตอรอลมีความสำคัญต่อร่างกาย โดยเป็นส่วนประกอบที่สำคัญของเซลล์ต่าง ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเซลล์สมอง แต่หากมีไขมันโคเลสเตอรอลมากเกินไปก็จะเป็นโทษต่อร่างกายเช่นกัน ซึ่งไขมันเหล่านี้จะไปสะสมอยู่ตามผนังหลอดเลือดแดงทั่วร่างกาย เช่น หลอดเลือดสมอง หลอดเลือดหัวใจ ฯลฯ ทำให้เกิดเส้นเลือดแข็งตัว และการตีบตันของหลอดเลือด ในอนาคตจะเป็นช้าหรือเร็วขึ้นอยู่กับปริมาณโคเลสเตอรอล และ มีปัจจัยเสี่ยงร่วมด้วย เช่น ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง เบาหวาน การสูบบุหรี่ ความอ้วน และการไม่ออกกำลังกาย เป็นต้น

คนปกติจะต้องมีค่าโคเลสเตอรอลรวมน้อยกว่า 200 มก./ดล. ไตรกลีเซอไรด์น้อยกว่า 170 มก./ดล. ไขมันชนิดดี (HDL) ซึ่งเป็นไขมันที่ทำหน้าที่จับโคเลสเตอรอลจากเซลล์ของร่างกายและนำไปกำจัดทิ้งที่ตับ ควรมีค่ามากกว่า 60 มก./ดล. ส่วนไขมันชนิดไม่ดี (LDL) ควรน้อยกว่า 130 มก./ดล.

โคเลสเตอรอลรวมแบ่งออกได้เป็น 2 ชนิด คือ
1.High-Density Lipoprotein (HDL) เป็นไขมันชนิดดี มีความหนาแน่นสูง ทำหน้าที่จับไขมันโคเลสเตอรอลออกไปทำลายที่ตับ การมีไขมัน HDL สูงจะทำให้โอกาสเป็นโรคหลอดเลือดลดลง ซึ่งการทำให้ HDL สูงนั้น ต้องออกกำลังกายเท่านั้น
2.Low-Density Lipoprotein (LDL) เป็นไขมันชนิดไม่ดี ที่มาจากไขมันสัตว์ ถ้าไขมันชนิดนี้สูงจะไปเกาะผนังหลอดเลือดทำให้ตีบแคบลง การไหลเวียนของเลือดไม่สะดวก ความยืดหยุ่นของหลอดเลือดเสียไป จึงเสี่ยงต่อการเกิดโรคเส้นเลือดตีบตันได้มาก
3.ไตรกลีเซอไรด์ (Triglyceride)เป็นไขมันชนิดหนึ่งเกิดจากการสร้างขึ้นเองในร่างกายจากน้ำตาล และแป้ง หรือจากอาหารที่รับประทานเข้าไป มีความสำคัญทางด้านโภชนาการหลายประการ นับตั้งแต่ให้พลังงาน ช่วยในการดูดซึมวิตามิน เอ ดี อี และ เค ช่วยทำให้รู้สึกอิ่มท้องได้นาน นอกจากนี้ร่างกายยังเก็บสะสมไตรกลีเซอไรด์ไว้สำหรับให้พลังงานเมื่อมีความต้องการ อย่างไรก็ตาม การมี ไตรกลีเซอไรด์ในเลือดสูงหรือพบว่าสูงในคนที่มีโคเลสเตอรอลสูงอยู่แล้ว เชื่อว่ามีโอกาสเป็นโรคหลอดเลือดเลี้ยงหัวใจตีบมากขึ้น ระดับปกติในเลือดไม่ควรเกิน 150 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร (ค่าปกติ 50 – 150 mg/dl)

สาเหตุของภาวะไขมันในเลือดสูง
- กรรมพันธุ์
- การรับประทานอาหารที่มีไขมันสูง โดยเฉพาะไขมันจากสัตว์
- โรคของต่อมไร้ท่อบางชนิด เช่น เบาหวาน ธัยรอยด์ และโรคของต่อมหมวกไตบางอย่าง
- โรคตับ โรคไตบางชนิด
- ยาบางชนิด เช่น สเตียรอยด์ ฮอร์โมนเพศ (ยาคุมกำเนิด) เป็นต้น
- การตั้งครรภ์
- การดื่มแอลกอฮอล์
- ภาวะขาดการออกกำลังกาย

ผลข้างเคียงของโรคไขมันในเลือดสูง
 ภาวะที่มีระดับกลุ่มไขมัน LDL สูงถือเป็นหนึ่งในความเสี่ยงที่ทำให้เกิดโรคหลอดเลือดหัว ใจ ซึ่งนำไปสู่โรคหัวใจขาดเลือด และอัมพฤกษ์/ อัมพาตจากโรคหลอดเลือดสมอง จากการที่ไขมันไปทำให้หลอดเลือดแดงใหญ่แข็งตัวซึ่งเรียกว่า Atherosclerosis (โรคหลอดเลือดแดงแข็ง)

ผู้ที่ควรตรวจระดับไขมันในเลือด
ควรตรวจเมื่ออายุเกิน 35 ปีขึ้นไป ถ้าปกติและไม่ได้มีปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคหลอดเลือดตีบอื่นๆ เช่น โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง สูบบุหรี่ และอายุยังไม่เกิน 45 ปี ( ผู้ชาย) หรือ 55 ปี (สำหรับผู้หญิง) ไม่มีประวัติโรคหลอดเลือดหัวใจในครอบครัวตั้งแต่อายุยังไม่มาก (ผู้ชายไม่เกิน 55 ปีและผู้หญิงไม่เกิน 65 ปี) และยังไม่เป็นโรคหลอดเลือดหัวใจและหลอดเลือดสมอง ควรตรวจซ้ำในอีก 5 ปีข้างหน้า แต่ถ้ามีปัจจัยเสี่ยงดังกล่าวแล้วและตรวจไขมันในเลือดว่าปกติก็ตรวจซ้ำในอีก 1-3 ปี

ข้อควรปฏิบัติเมื่อไขมันในเลือดสูง
1.ควบคุมอาหารที่มีโคเลสเตอรอลสูง เช่น ไขมันสัตว์ สมองสัตว์ เครื่องในสัตว์ ไข่แดง อาหารทะเล หอยนางรม ปลาหมึก กุ้ง หนังเป็ด หนังไก่ มะพร้าว อาหารที่มีกะทิ หากมีระดับไตรกลีเซอไรด์สูงด้วย ควรระวังอาหารพวกแป้ง น้ำตาล เครื่องดื่มที่มีรสหวาน ผลไม้รสหวานจัด
2.รับประทานอาหารประเภทเนื้อปลา เนื้อสัตว์ที่ไม่ติดมัน นมพร่องมันเนย
3.หลีกเลี่ยงการดื่มสุรา เบียร์ เพราะแอลกอฮอล์มีฤทธิ์สะสมไขมันตามเนื้อเยื่อ
4.หลีกเลี่ยงอาหารที่ปรุงด้วยน้ำมัน อาหารทอด เจียว ควรใช้น้ำมันจากพืชแทนน้ำมันจากสัตว์ เช่น น้ำมันถั่วเหลือง น้ำมันข้าวโพด น้ำมันดอกทานตะวัน ซึ่งมีกรดไลโนเลอิกเป็นตัวนำ โคเลสเตอรอลไปเผาผลาญซึ่งจะช่วยในการดูดซึมไขมันสู่ร่างกายน้อยลง
5.ควรเพิ่มอาหารประเภทผักใบต่าง ๆ และผลไม้บางชนิดที่ให้ใยและกาก เช่น คะน้า ฝรั่ง ส้ม เม็ดแมงลัก เพื่อให้ร่างกายได้รับกากใยมากขึ้น เพื่อช่วยในการดูดซึมของไขมันสู่ร่างกายน้อยลง
6.การออกกำลังกาย จะช่วยลดปริมาณไขมันในเลือดและเพิ่มระดับของ HDL ควรทำอย่างต่อเนื่อง สัปดาห์ละ 3-4 ครั้ง ครั้งละ 20-30 นาที การออกกำลังกายที่ดี เช่น การเดินเร็ว จ๊อกกิ้ง เต้นรำ ขี่จักรยาน
7.งดสูบบุหรี่ เพราะจะทำให้ HDL ในเลือดต่ำลง และบุหรี่ยังเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจขาดเลือด
9.ปรึกษาแพทย์ ติดตามผล การปฏิบัติตัวบางระยะอาจต้องใช้ยาช่วยปรับระดับไขมัน ซึ่งแพทย์จะเป็นผู้แนะนำและติดตามผลการรักษาต่อไป

แหล่งที่มาจาก: http://paolohealthcare.com/
โรงพยาบาลเปาโล

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น